ทำไมจึงต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง อ่านพระบรมราโชวาทเรื่อง "การใช้ภาษาไทย"


พระบรมราโชวาท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เวลา 16.44 น.วันที่ 29 สิงหาคมพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย ที่ปฏิบัติราชการอยู่ในต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานพระบรมราโชวาท ในโอกาสที่กระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้มีการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย ประจำปี 2550 ณ กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2250

ในโอกาสนี้นายนิตย์ พิบูลสงคราม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย โอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัส เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีพระมหากรุณาธิคุณให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ กราบบังคมทูลฯ ถามเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องพลังงานทดแทน การใช้ภาษาไทย และเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทรงตอบทุกคำถาม

'ท่านทูตคงกลุ้มใจว่า คนที่ไปอยู่ต่างประเทศเพียงไม่กี่วันหรือไม่นาน กลับมาพูดภาษาไทยไม่ได้ เพราะว่านึกว่าไปต่างประเทศนั้น ต้องไปเรียนรู้ความเป็นไม่เป็นไทย ดังนั้นก็เห็นใจท่าน เพราะว่าท่านเป็นทูต คนที่ไปต่างประเทศไม่กี่วัน แล้วก็ไปพบกับท่านทูต พูดภาษาไทยไม่ได้ แต่ว่าต่างประเทศ ฝรั่งไปพบท่านมาเมืองไทยไม่นาน กลับไปพูดภาษาไทยได้ อันนี้ก็ชอบกล ประหลาดมาก แต่ว่าต้องเข้าใจว่าคนที่ไม่ได้ไปต่างประเทศ แต่ก็ได้มีโอกาสไปต่างประเทศ เขามีปมด้อย คนไทยนั้นส่วนใหญ่ไม่มีปมด้อย ที่เห็นคนไทยมีความภูมิใจที่เป็นคนไทย เพราะว่าอยู่เมืองไทย เป็นคนไทย เขาสามารถศึกษาว่าเมืองไทย คนไทยมีความดี แต่ผู้ที่ไปต่างประเทศนึกว่า เราก็พูดอย่างเดียวกับพวกที่ไปเมืองฝรั่ง ไม่ใช่พวกที่ไปเมืองแขกหรือว่าเมืองจีน เพราะว่าเห่อว่าฝรั่งเขาเจริญ เพราะบ้านเมืองของเขามีความก้าวหน้าหลายอย่าง คนไทยก็เลยมีปมด้อย ว่าเราไม่มีความเจริญ ปัญหาที่เกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไร สำหรับแก้ไข ก็เล่าให้ท่านฟังแล้วว่า ข้าพเจ้ามาเมืองไทยไม่รู้ภาษาไทย แล้วก็ออกไป อายุ 5 ขวบ กลับมาอายุ 11 ก็ไม่ค่อยรู้ภาษาไทย ที่จริงรู้ภาษาไทยก็โดยที่ สมเด็จพระบรมราชชนนี ท่านไม่พูดภาษาฝรั่งกับเรา ท่านพูดภาษาไทย ก็เลยรู้ภาษาไทย แต่เขียนภาษาไทยไม่ค่อยได้ อ่านไม่ค่อยได้ ตอนอายุ 11 ก็ได้เรียน จนกระทั่งอายุ 18 ก็เขียนภาษาไทย อ่านภาษาไทยไม่ค่อยได้ มาอ่านภาษาไทยได้ทีหลัง แต่ก็อยู่ที่ความเป็นไทยนี่ลำบาก ก็พยายามที่จะเรียนภาษาไทย

แต่ผู้ที่ไปหาท่านทูตแล้วพูดภาษาไทยไม่ชัด ส่วนใหญ่เขาก็รู้ภาษาไทย ออกไป2-3วันลืมภาษาไทยแล้ว เพราะว่าเป็นคนที่ไม่ศึกษา วิธีที่จะทำท่านทูตก็คงต้องล้างสมองเขา ประเทศไทยมีภาษาไทยมานานแล้ว มีวัฒนธรรมไทยนานกว่าต่างประเทศในยุโรปหลายประเทศ ก่อนนี้ในต่างประเทศ เป็นยุคที่เขาเรียกว่ามิดเดิ้ลเอจ (middle age) เป็นยุคกลาง ยุคที่ไม่เจริญ เมืองไทยนี้ ยุคกลางของเราเจริญแล้ว ถ้าอยากจะให้แก้ไข เราก็ต้องศึกษายุคกลางของเราว่าเจริญแล้ว แล้วบอกกับพวกที่คิดว่าเมืองไทยไม่เจริญให้เข้าใจ แล้วก็ที่ประเทศไทยมีภาษาไทย มีตัวอักษรไทยมาตั้งแต่สมัยที่เป็นยุคกลางของฝรั่ง ของเราหลายร้อยปีมีภาษา มีตัวอักษร ของฝรั่งไม่มี เราไม่พูดถึงอเมริกา แอฟริกา แต่พูดถึงยุโรปซึ่งเป็นประเทศที่เจริญ แต่ตอนนั้นไม่ได้เจริญ เราเจริญก่อน แต่ว่าเมืองไทยจะไม่เจริญ เพราะมีคนอย่างพวกที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าเมืองไทยเจริญมานานแล้ว

วิธีที่จะทำก็คือต้องพยายามที่จะทำให้เข้าใจว่าเมืองไทยนี้เจริญมานานแล้ว วิธีที่จะปฏิบัติก็คือต้องสอนเขา ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาสันสกฤต เป็นอักษรที่ยาก ก็หมายความว่าเป็นอักษรโบราณเก่าแก่เป็นพันปี เขามีความเจริญมานานแล้ว ไม่ด้อยพัฒนา เด็กสมัยใหม่ต้องเรียนภาษาจะต้องเรียกว่าสมัยใหม่ ความจริงภาษาสันสกฤต สมัยใหม่มาก ตัวอักษรของเขามีชั้นล่าง กลาง บน เพราะว่าภาษาสันสกฤตนั้น คนก็เรียนรู้ยากมาก เพราะมีเป็นชั้นๆ ซึ่งถ้ามีใครมาถาม คนไทยทำไมไม่เจริญ ไม่พัฒนา ก็อย่างนี้ เพราะไม่ได้เรียนกัน คนไทยไม่พัฒนา ที่จริงพัฒนามาก ภาษาสันสกฤตมี 3-4 ชั้น แต่ไม่ทำเอง

ฉะนั้นถ้าท่านทูตอยากจะอธิบาย กับพวกที่มาหาว่าคน ไม่ก้าวหน้า ศึกษาภาษาไทยเอง ไม่ต้องถึงไปเรียนสันสกฤต ภาษาไทยเองก็มีหลายชั้น ก็หมายความว่าตัวอักษรเรามีสูงมาก การเรียนรู้ภาษาไทย เสียงของภาษาไทยก็มีหลายเสียง เพราะจะเขียนภาษาฝรั่งมาเป็นไทยก็ได้มาก ท่านไม่ต้องกลัว ศึกษาต่อไป แล้วอธิบายมากับพวกที่ล้าสมัย (primitic) ไม่ต้องกลัวมีปมด้อย'

โดยเฉพาะท่านที่เป็นข้าราชการกระทรวงต่างประเทศพึงทำหน้าที่อธิบายว่า คนไทยเป็นอย่างไร เพราะถ้าไม่มีใครอธิบายความเป็นอยู่ของประเทศไทยได้ ชาวต่างประเทศมักเข้าใจผิด และตั้งใจเข้าใจผิด เพราะไม่เข้าใจ ที่จริงเข้าใจ ชาวต่างประเทศไม่ได้โง่ แต่ทำโง่ เท่ากับว่า คนไทยทำโง่ไปตามเขา เมืองไทยก็แย่ เท่ากับว่า เมืองไทยทำโง่ตามความเป็นอยู่ต่างประเทศ เรียกว่าแย่ ชาวต่างประเทศย่อมทำให้คนไทยโง่จะได้เอาเปรียบได้ ดีใจที่ได้พบท่านในวันนี้และรู้ว่าท่านเข้าใจในหน้าที่ เคยพูดว่า วันนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศไม่ทำหน้าที่ตนเองจะลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศต้องเข้าใจและมีความรู้ในประเทศที่อยู่ และเข้าใจความรู้ในต่างประเทศ”

1 ความคิดเห็น:

พุทธพล มงคลวรวรรณ กล่าวว่า...

จากข้อความข้างบน ในฐานะผู้สอนประวัติศาสตร์ขอชี้แจงความเข้าใจผิดบางประการเกี่ยวกับสมัยกลางของยุโรป คือ
1. ฝรั่งมีภาษาก่อนไทย เพราะถ้าเราถือว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทย (จริงๆ มีข้อถกเถียงกันมากว่า ศิลาจารึกหลักหนึ่ง สร้างในสมัยพ่อขุนรามฯจริงหรือไม่ ในวงวิชาการประวัติศาสตร์ค่อนไปทางไม่เชื่อว่าเก่าจริง อาจจะสมัยพระยาลิไท หรือแม้แต่สมัยรัชกาลที่ 4 แต่ในที่นี้ขออนุโลมว่าสมัยพ่อขุนราม) ก็เทียบเท่ากับปี ค.ศ. 1283 ตรงกับสมัยกลางของยุโรป แต่ฝรั่งเขามีภาษา หรือมีตัวอักษรมาตั้งแต่สมัยกรีกโรมัน คือ 500 ปีก่อน ค.ศ. ก่อนพ่อขุนรามถึง 1700 ปี
2. อันที่จริงประวัติศาสตร์ยุโรป เวลาเราเรียนเราสอน ก็จะเริ่มต้นที่กรีก - โรมัน ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมตะวันตก หรือประวัติศาสตร์ตะวันตก- ยุโรป ซึ่งก็มีภาษา วิทยาการ ปรัชญา แม้แต่สิ่งที่พอเรียกว่า "วิทยาศาสตร์" ลองนึกถึงโสรเครติส เพลโต เดโมคลิตุส โฮเมอ ซิเซโร คนเหล่านี้เกิดก่อนพ่อขุนรามกว่าพันปี
3. ยุคกลางของยุโรป ค.ศ. 476 – 1492 เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นยุคมืด ไม่เจริญ แต่ในวงวิชาการสมัยหลัง ตั้งแต่ทศวรรษ 1960s - 1970s แนวคิดดังกล่าวก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ขอquote อ. อนันตชัย ดังนี้
“ยุโรปสมัยกลาง” (Medieval Europe ค.ศ. 476 – 1492) เคยถูกประนามว่าเป็น “ยุคมืด” (Dark Ages) ที่ตะวันตกอยู่ในภาวะเสื่อมถอยทางด้านศิลปวิทยาการและการสร้างสรรค์ คำว่า “Medieval” หรือ “Middle Ages” จึงเป็นคำศัพท์ที่ใช้กับความหมายของความล้าหลัง ความไร้อารยะ การกดขี่และความหมายในทางลบอื่นๆ แต่นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันต่างยกย่องว่าสมัยกลางเป็นบ่อกำเนิดของอารยธรรมยุโรป เป็นสมัยที่ประวัติศาสตร์ตะวันตกมีสีสันสดใสและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการแยกแยะหน้าที่ของชนชั้น การจัดตั้งองค์กรช่างฝีมืออาชีพหรือกิลด์ (guild) การเกิดเมืองที่เป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมเมืองในปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยและการสร้างมหาวิหารขนาดใหญ่โต และผู้คนต่างก็ดำรงชีวิตอยู่ในกรอบของคริสต์ศาสนาอย่างเคร่งครัด
- อนันต์ชัย เลาหะพันธุ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน เรื่องน่ารู้ในยุโรปสมัยกลาง
4. แน่นอนว่าความ "เจริญ" ของยุโรปสมัยกลาง สู้จีนในช่วงเวลาเดียวกันไม่ได้ (หรือ แม้แต่อารยธรรมของชาวมุสลิมทางตะวันออกกลาง ในแง่ปรัชญาและ "วิทยาศาสตร์") แต่ถ้าเปรียบเทียบ -เฉพาะ- สมัยกลางของฝรั่งกับ "ไทย" แล้ว ในแง่ภาษาและวรรณกรรมช่วงเวลาใกล้เคียงกับพ่อขุนรามตอกศิลาจารึก ดังเต (Dante) เขียน The Divine Comedy แล้ว ไม่นับรวมด้านอิ่นๆ เช่นสถาปัตยกรรม พวกมหาวิหาร (cathedral) ต่างๆ