ชินโต : ศาสนาแห่งความงาม ธรรมชาติ ความรักและความศรัทธา


อันธิฌา ทัศคร

ข้อมูลบรรณานุกรม :
อันธิฌา ทัศคร. “ชินโต : ศาสนาแห่งความงาม ธรรมชาติ ความรักและความศรัทธา”
นิตยสารไฟน์อาร์ต ปีที่ 5 ฉบับที่ 36 (กันยายน 2550). หน้า (กำลังอยู่ในระหว่าง
จัดพิมพ์)

วัฒนธรรมทางความคิดของประเทศญี่ปุ่น เป็นผลมาจากความเชื่อความศรัทธาในศาสนาและปรัชญาสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ขงจื๊อ พุทธศาสนา และชินโต[1] ญี่ปุ่นรับเอาลัทธิขงจื๊อมาจากประเทศจีนโดยตรง พุทธศาสนาแม้จะมีรากฐานมาจากประเทศอินเดียแต่พุทธศาสนาที่เผยแพร่มาถึงญี่ปุ่นเป็นรูปแบบที่ได้รับการผสมผสานกับปรัชญาเต๋าและถูกปรับเปลี่ยนจากประเทศจีนมาก่อนแล้ว ส่วนชินโตนั้นกล่าวได้ว่าเป็นทรัพย์ทางปัญญาที่ถือกำเนิดในดินแดนญี่ปุ่นเอง สำหรับศิลปะ แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในวงวิชาการว่าพุทธศาสนานิกายเซนได้ให้อิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆของประเทศนี้ แต่การเว้นที่จะกล่าวถึงชินโต อันเป็นปรัชญาความเชื่ออีกกระแสหนึ่งซึ่งแฝงอยู่ในวิถีคิดของชาวญี่ปุ่นควบคู่กัน คงจะทำให้การกล่าวถึงศิลปะญี่ปุ่นไม่ครบถ้วนรอบด้านเท่าที่ควร

ผู้เขียนตั้งใจจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชินโตและศิลปะ โดยแบ่งบทความออกเป็นสองตอนซึ่งแต่ละตอนจะจบสมบูรณ์ในตัวเอง ในบทความนี้ถือเป็นตอนแรกซึ่งจะนำเสนอประวัติความเป็นมาของชินโต ความสำคัญของลัทธินี้ที่เราสามารถพบเห็นร่องรอยหลักฐานได้ในทุกสิ่งทุกอย่างของความเป็นญี่ปุ่น แม้ในปัจจุบันสิ่งที่กล่าวมาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปนัก และในฉบับต่อไปจะนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาความคิดชินโตที่ส่งผ่านไปสู่งานศิลปะ รวมถึงลักษณะเด่นของงานศิลปะที่อยู่ภายใต้อิทธิพลแนวคิดแบบชินโตค่ะ

มีผู้กล่าวว่า ชินโต ไม่ได้เป็นเพียงปรัชญาความคิดหรือลัทธิศาสนาเท่านั้น หากชินโตเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรม ความเชื่อดั้งเดิม และเอกลักษณ์ของความเป็นชนชาติญี่ปุ่น เพราะอุปนิสัยและลักษณ์เด่นทางวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นล้วนถูกหล่อหลอมขัดเกลาด้วยคำสอนของชินโต จนทำให้คนญี่ปุ่นทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตามเติบโตขึ้นมาภายใต้หลักคำสอนและหลักปฏิบัติชินโตทั้งสิ้น และแม้ครั้งหนึ่งเคยมีความพยายามที่จะนำเอาปรัชญาความคิดนี้เผยแพร่สู่ประเทศอื่นๆอย่างเกาหลี จีน และทิเบต แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จทำให้ในปัจจุบันชินโตจึงเติบโตและรุ่งเรืองอยู่เฉพาะบนเกาะญี่ปุ่นเท่านั้น

ก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามาในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ญี่ปุ่นไม่มีคัมภีร์ทางศาสนา ไม่มีลัทธิปรัชญา แนวคิดด้านอภิปรัชญาที่จะอธิบายความเป็นจริงของโลกและจักรวาลก็มีอยู่ไม่มากนักและยังไม่เป็นระบบ ไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติในลักษณะที่แยกมนุษย์กับธรรมชาติออกจากกันหรืออธิบายธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องศึกษาพิจารณาในฐานะของ “โลกภายนอก”[2] ความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นเชื่อว่ามนุษย์คือส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากธรรมชาติองค์รวม (the whole) และมนุษย์ถูกอธิบายหรือให้นิยามความหมายว่าเกิดจากการรวมกันขึ้นของธาตุต่างๆหรือพลังในธรรมชาติ[3]

แรกเริ่มเดิมทีความคิดความเชื่อซึ่งเป็นศาสนาโบราณของญี่ปุ่น พบเงื่อนเค้าว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยอยู่ในรูปแบบของการกราบไหว้บูชาธรรมชาติเช่นเดียวกับศาสนาโบราณในดินแดนแถบอื่นทั่วโลก เป็นความเชื่อในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ (Fertility cults) มีการบูชาบรรพบุรุษสืบทอดเป็นสายตระกูล มีหัวหน้าตระกูลหรือชนเผ่าที่เรียกว่า อุจิ (Uji) ผู้ซึ่งเป็นผู้นำในการปกครองพร้อมๆกับที่เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณไปด้วย ในช่วงเวลานั้นกฎระเบียบในการปกครองไม่ได้แยกออกจากศาสนา ทำให้ความเชื่อต่างๆในสังคมได้หลอมรวมเข้าเป็นระบบเดียวกัน และยังมีการบูชาวีรบุรุษของชนเผ่าหรือของท้องถิ่นในฐานะเทพ (Hero worship) โดยภาพรวมแล้วจึงกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานั้นชาวญี่ปุ่นโบราณเคารพนับถือลัทธิวิญญาณนิยม เทพเจ้าหรือจิตวิญญาณในโลกธรรมชาติในลักษณะของเทพตำนาน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดศาสนาชินโต คือความพยายามสร้างเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างความเชื้อดั้งเดิมของญี่ปุ่นกับศาสนาพุทธที่เข้ามามีบทบาทในสังคมญี่ปุ่น ในสมัยโตกุกาวา กลุ่มนักปราชญ์โคคุกากุชู (nativists)[4] ซึ่งศึกษาเทพตำนานและตำนานแห่งการเกิด (nativism)[5] ได้รวบรวมความรู้และตำนานต่างๆเกี่ยวกับการกำเนิดโลกและประเทศญี่ปุ่น จนในปี ค.ศ. 712 คัมภีร์โคจิกิ (Kojiki) หรือบันทึกเรื่องราวโบราณก็ถูกรวบรวมขึ้นเป็นผลสำเร็จ และในปี ค.ศ. 720 คัมภีร์นิฮอนกิ (Nihonki, Nihon-Shoki) หรือบันทึกเหตุการณ์ของญี่ปุ่น[6] ก็ได้รับการรวบรวมขึ้นเป็นลำดับต่อมา คัมภีร์ทั้งสองเล่มกลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชินโต ในครั้งนั้นเองคำว่า ชินโต ก็ได้ถูกคิดขึ้นและใช้เรียกศาสนานี้ นับแต่นั้นมาศาสนาชินโตก็มีระบบระเบียบชัดเจนมากขึ้นและมีอิทธิพลอย่างสูงต่อประเทศญี่ปุ่นมาต่อเนื่องยาวนานอย่างไม่ขาดกระแสตั้งแต่สมัยราชวงศ์ยามาโตะ จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

ราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผลจากการปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration, 1868) ชินโตได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่น เกิดเป็นแนวคิดที่แบ่งเป็น “ชินโตแห่งรัฐ” และ “ชินโตแห่งนิกาย”[7] ชินโตแห่งรัฐนั้นหมายความว่าไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรแต่ถ้าถือสัญชาติญี่ปุ่นแล้ว บุคคลผู้นั้นจะต้องนับถือชินโตแห่งรัฐนี้ด้วย เป็นการสร้างชินโตในรูปขององค์กรที่เอื้อประโยชน์ด้านการเมืองการปกครอง สร้างจิตวิญญาณของความเป็นรัฐชาติที่ให้ความเคารพบูชาสถาบันกษัตริย์และพระจักรพรรดิญี่ปุ่น (mikado) ในฐานะผู้สืบเชื้อสายมาจากเทพีแห่งดวงอาทิตย์ มีสิทธิ์อำนาจอันชอบธรรมในการปกครองผืนแผ่นดินญี่ปุ่นตามเทพตำนานที่บันทึกไว้คัมภีร์โคจิกิและนิฮอนกิ หากมองในแง่มุมของศาสนา ชินโต มีลักษณะเด่นคือ

ศาสนาชินโต ไม่มีศาสดา ไม่มีผู้ก่อตั้งศาสนา
ศาสนาชินโต ไม่มีพระคัมภีร์ทางศาสนาที่สมบูรณ์[8]
ศาสนาชินโต ไม่มีบทบัญญัติในการประพฤติปฏิบัติที่ตายตัว[9]
ศาสนาชินโต เป็นองค์กรนักบวชที่ไม่เคร่งครัดในเรื่องวัตรปฏิบัตินัก
ศาสนาชินโต เป็นศาสนาธรรมชาติ หรือชาติพันธุ์ (natural or ethnic religion)

คำว่า “ชินโต” (Shinto, 神道) มีที่มาจากตัวอักษรภาษาจีนสองคำคือ ชิน (Shin) และ เต๋า (Tao, Dao) ชิน หมายถึง เทพเจ้า หรือพลังอำนาจแห่งจิตวิญญาณ[10] และ เต๋า หมายถึง หนทางหรือวิถี[11] เมื่อรวมกันแล้วแปลได้ว่า “ทางแห่งเทพเจ้า” (The way of gods) ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเองก็มีอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกคือคำว่า คามิ-โน-มิชิ ซึ่งแปลให้ตรงตัวก็คือ “ทางแห่งคามิ” ค่ะ

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของชินโตคือความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณในธรรมชาติ[12] ที่เรียกว่า คามิ (kami : 神) นั่นเอง ตามความหมายของคำ คำว่าคามิแปลว่า “สูงกว่า” (upper) และคำๆนี้ยังสามารถจำแนกความหมายได้ 3 แบบคือ บริสุทธิ์ หรือสว่างรุ่งเรือง สูงส่งกว่า และแปลกประหลาด ลึกลับ น่ากลัว ซ่อนเร้น เหนือธรรมชาติ[13] โมโตโอริ (Motoori, 1730-1801)[14] นักเทววิทยาชินโตคนสำคัญได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ คามิ ไว้ว่า

“ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แม้แต่นก สัตว์ พืช ต้นไม้ ทะเล ภูเขา และทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอะไร ที่สมควรแก่การเกรงขามและแสดงออกถึงพลังที่พิเศษและเด่น เหล่านี้เรียกว่า คามิ และไม่จำเป็นที่จะต้องเด่นในด้านความงาม ความดี หรือความสามารถเท่านั้น สิ่งที่ร้ายกาจ และสิ่งที่ประหลาดลึกลับซึ่งบุคคลทั่วไปเกรงกลัว ก็เรียกว่า คามิ พระจักรพรรดิ (Mikado) ที่สืบสันติวงศ์กันลงมา มนุษย์ที่สูงส่งซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากมายทั้งในสมัยโบราณและสมัยปัจจุบัน สุนัขจิ้งจอก เสือ หมาป่า ลูกท้อ เพชร พลอย ล้วนเรียกว่า คามิ”[15]

คามิที่สำคัญที่สุดของชินโตปรากฏอยู่ในคัมภีร์โคจิกิ บันทึกเรื่องราวเทพตำนานญี่ปุ่นซึ่งกล่าวถึง อิซานะกิ (Izanaki) และ อิซานะมิ (Izanami) เทพฝ่ายชายและเทพฝ่ายหญิงซึ่งเป็นปฐมกำเนิดของเหล่าทวยเทพและของสรรพสิ่งทั้งมวลบนพื้นพิภพ อะมะเตระสุ (Amaterasu) เทพีแห่งดวงอาทิตย์ที่เกิดจากดวงตาข้างซ้ายของอิซานะกิ เป็นเทพีที่ชาวญี่ปุ่นให้ความเคารพนับถือมากที่สุด ซึกุโยมิ (Tsukuyomi) เทพแห่งดวงจันทร์ เกิดจากดวงตาข้างขวาของอิซานะกิ และซูซาโนะวู (Susano-o) เทพฝ่ายอธรรมซึ่งเกิดขึ้นจากจมูกของอิซานะกิ

ดังนั้น “คามิ” ก็คือจิตวิญญาณซึ่งมีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ ตั้งแต่ทวยเทพ สิ่งในธรรมชาติและตัวมนุษย์เองก็เป็นคามิเช่นเดียวกัน แต่แม้ว่าจะมีกระบวนการแห่งชีวิตเหล่านี้แผ่ซ่านอยู่ทั่วไป เราก็มักจะไม่สามารถสื่อสารกับสิ่งเหล่านี้ได้ เช่นเดียวกับกระจกที่ถูกเคลือบด้วยฝุ่นผง สภาวะธรรมชาติของเรากลายเป็นสิ่งที่มืดหม่นคลุมเครือ[16] การจะเข้าถึงสภาวะหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับคามิ เราจะต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์เบิกบาน จิตใจของมนุษย์นั้นอาจขาดความบริสุทธิ์เบิกบานและพลังชีวิตได้เมื่อจิตใจของเราเต็มไปด้วยสิ่งที่แปดเปื้อน ความไม่จริงใจ ความเห็นแก่ตัว ความเศร้าโศก เมื่อนั้นเรามักจะทำสิ่งที่เลวร้ายและไม่เป็นระเบียบ เช่นเดียวกับแม่น้ำลำคลองที่ถูกทำให้สกปรกมีกลิ่นเหม็นหรือต้นไม้ใหญ่ที่ถูกหักกิ่งตัดงัดให้ตาย ชินโตจึงให้ความสำคัญอย่างสูงกับการ “ชำระตนให้บริสุทธิ์” ทั้งทางร่างกาย ชำระล้างสิ่งสกปรก และทางจิตใจ ชำระล้างทัศนคติ ให้เกิดอารมณ์และจิตใจที่บริสุทธิ์ เข้มแข็งและเฉียบแหลม เพื่อให้เกิดการประพฤติที่ถูกต้องดีงามและจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “ความบริสุทธิ์ใจ” (makoto) ต่อผู้อื่นและต่อโลกธรรมชาติ

มีสัญลักษณ์มากมายในศาสนาชินโตที่เกี่ยวข้องกับการชำระล้างให้บริสุทธิ์เช่น ประเพณีการอาบน้ำ การปัดเป่าด้วยฮาราอิกุชิ[17] ข้าวสาร เกลือ หรือถั่ว อีกสัญลักษณ์หนึ่งที่เรามักจะพบเห็นได้โดยทั่วไปคือประตูโทริอิ (Torii gate) ที่มักจะสร้างไว้ใกล้ๆกับศาลเจ้าชินโต แม่น้ำ ต้นไม้ใหญ่ ก้อนหินใหญ่ หรือบนยอดเขา อันเป็นเครื่องหมายแสดงว่าในพื้นที่นั้นมีคามิที่ต้องแสดงความคารวะสถิตอยู่

ปรัชญาชินโตจึงเป็นความเข้าใจชีวิตแบบองค์รวม เชื่อในความกลมกลืนสอดประสานกันของสรรพสิ่งและความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติรอบตัว ความเชื่อที่สำคัญที่สุดของชินโตคือ “ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ มีชีวิต” พลังอำนาจแห่งชีวิตมีอยู่ทั่วทุกที่ในโลกแห่งปรากฏการณ์[18] ความเชื่อในปรัชญาชินโตจึงทำให้หัวใจของชาวญี่ปุ่นเต็มไปด้วย “ความรัก” คือความรักในธรรมชาติ ประเทศชาติ พระจักรพรรดิ รักในความสะอาด รักในการสร้างสรรค์และความมีชีวิตชีวา ซึ่งส่งผลปรากฏในจารีตการดำเนินชีวิตและงานสร้างสรรค์ทุกประเภทของชาวญี่ปุ่นค่ะ


เอกสารอ้างอิง
โจเซฟ แกร์. 2522. “ชินโต : กามิ-โน-มิชิ.” ใน ศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร (หน้า 96 – 107). ฟื้น
ดอกบัว ผู้แปล. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. 2545. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. กรุงเทพมหานคร :
สุขภาพใจ.
บอยด์, เจมส์ ดับเบิลยู และ นิชิมารุ, เท็ตสึยะ. 2550. คติความเชื่อลัทธิชินโตในการ์ตูนแอนิ
เมชั่นของมิยาซากิเรื่อง Spirited Away
. อันธิฌา ทัศคร ผู้แปล. (เอกสารคัดสำเนา)เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ พฤหัสเสวนา พินิจภาษาและสังคม : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
Devi, Savitri. 2007. “Shinto - The Way of the Gods.” [online], 28 paragraphs. Available:
http://library.flawlesslogic.com/shinto.htm (2007, August 8)
Kannagara Jinja. 2007. “What is Shinto?” [online], 30 paragraphs. Available :
http://www.tomcoyner.com/shinto.html (2007, August 8)
Shunzo, Sakamaki. 1967. “Shinto : Japanese Ethnocentrism.” in The Japanese mind :
essentials of Japanese philosophy and culture (pp. 24-32). Charles A. Moore (ed).
Honolulu : East-West Center Press.

เว็บไซต์แนะนำ
สารานุกรมชินโต (Encyclopedia of Shinto)
http://eos.kokugakuin.ac.jp/modules/xwords/
นิยามคำศัพท์ชินโต (Basic term of Shinto)
http://www2.kokugakuin.ac.jp/ijcc/wp/bts/index.html
คัมภีร์โคจิกิ ในรูป E-Book สำนวนแปลของ Basil Hall Chamberlain
http://www.sacred-texts.com/shi/kj/index.htm
และเว็บบล็อกที่รวบรวมข้อมูลด้านปรัชญาและศิลปะโดยผู้เขียนเองค่ะ
http://art-philosphy.blogspot.com/

เชิงอรรถ

[1] โจเซฟ แกร์, 2522, หน้า 96.
[2] Shunzo, Sakamaki, 1967, p. 24.
[3] ความเชื่อในลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับลัทธิเต๋า ซึ่งถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันแบบเป็นองค์รวมและถือกำเนิดจากต้นกำเนิดอันเดียวกันคือ เต๋า
[4] The kokugakushu
[5] ตำนานแห่งการเกิดเรียกว่าโคคุกากุ (kokugaku) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษากำเนิดชนชาติญี่ปุ่น (National study หรือ Japanology)
[6] โคชิกิ แปลได้ว่า บันทึกเรื่องราวโบราณ (Record of Ancient Matters) เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 712 และนิฮอนกิหรือนิฮอนโชกิ แปลได้ว่า บันทึกเหตุการณ์ของญี่ปุ่น (Chronicles of Japan) เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 720
[7] ชินโตแห่งรัฐอยู่ในรูปของสถาบันทางการเมืองการปกครองเรียกว่า State หรือ Shrine Shinto ส่วนชินโตแห่งนิกายอยู่ในรูปของลัทธิทางศาสนาเรียกว่า Sectarian Shinto
[8] นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าคัมภีร์โคจิกิและนิฮอนกิ ไม่อาจจะยกให้เป็นคัมภีร์ทางศาสนาที่สมบูรณ์ได้ เพราะไม่ได้แสดงบทบัญญัติในการปฏิบัติของศาสนาที่ชัดเจน เป็นเพียงการบันทึกรวบรวมเรื่องราวเทพตำนานพื้นบ้านที่กระจัดกระจายทั่วไปตามท้องที่ต่างๆเข้าไว้ด้วยกันให้เป็นระบบ
[9] แม้จะไม่มีบทบัญญัติที่ตายตัว แต่ก็มีหลักปฏิบัติพื้นฐาน 4 ข้อของชินโต ต้องให้ความเคารพต่อประเพณีและครอบครัว รักในธรรมชาติ รักษาความสะอาดร่างกาย และให้ความเคารพต่อเทศกาลและพิธีการต่างๆ
[10] spiritual power, divinity
[11] the way, the path
[12] Nature Spirits หรือ Spiritual Essence
[13] ความหมายของคำว่าคามิที่จำแนกเป็น 3 แบบในภาษาอังกฤษคือ (1) Pure, Bright (2) Superior (3) Strange, Mysterious, Fearful, Hidden, Supernatural
[14] โมโตโอริ โนรินากะ เป็นนักเทววิทยา หรือ โคคุกากุชู คนสำคัญในสมัยเอโดะ
[15] โมโตโอริ อ้างในทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2545, หน้า 266)
[16] บอยด์, เจมส์ ดับเบิลยู และ นิชิมารุ, เท็ตสึยะ. 2550. หน้า 3.
[17] ฮาราอิกุชิ (Haraigushi) หรือ lightning wand เป็นไม้เท้าที่มีพวงกระดาษสีขาวที่พับเป็นรูปซิกแซ็กคล้ายสายฟ้าอยู่ตรงปลาย มักใช้ในพิธีกรรมชินโต และประดับตามศาลเจ้าต่างๆ
[18] บอยด์, เจมส์ ดับเบิลยู และ นิชิมารุ, เท็ตสึยะ. 2550. หน้า 3.

ไม่มีความคิดเห็น: