ชินโต : ศาสนาแห่งความงาม ธรรมชาติ ความรักและความศรัทธา


อันธิฌา ทัศคร

ข้อมูลบรรณานุกรม :
อันธิฌา ทัศคร. “ชินโต : ศาสนาแห่งความงาม ธรรมชาติ ความรักและความศรัทธา”
นิตยสารไฟน์อาร์ต ปีที่ 5 ฉบับที่ 36 (กันยายน 2550). หน้า (กำลังอยู่ในระหว่าง
จัดพิมพ์)

วัฒนธรรมทางความคิดของประเทศญี่ปุ่น เป็นผลมาจากความเชื่อความศรัทธาในศาสนาและปรัชญาสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ขงจื๊อ พุทธศาสนา และชินโต[1] ญี่ปุ่นรับเอาลัทธิขงจื๊อมาจากประเทศจีนโดยตรง พุทธศาสนาแม้จะมีรากฐานมาจากประเทศอินเดียแต่พุทธศาสนาที่เผยแพร่มาถึงญี่ปุ่นเป็นรูปแบบที่ได้รับการผสมผสานกับปรัชญาเต๋าและถูกปรับเปลี่ยนจากประเทศจีนมาก่อนแล้ว ส่วนชินโตนั้นกล่าวได้ว่าเป็นทรัพย์ทางปัญญาที่ถือกำเนิดในดินแดนญี่ปุ่นเอง สำหรับศิลปะ แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในวงวิชาการว่าพุทธศาสนานิกายเซนได้ให้อิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆของประเทศนี้ แต่การเว้นที่จะกล่าวถึงชินโต อันเป็นปรัชญาความเชื่ออีกกระแสหนึ่งซึ่งแฝงอยู่ในวิถีคิดของชาวญี่ปุ่นควบคู่กัน คงจะทำให้การกล่าวถึงศิลปะญี่ปุ่นไม่ครบถ้วนรอบด้านเท่าที่ควร

ผู้เขียนตั้งใจจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชินโตและศิลปะ โดยแบ่งบทความออกเป็นสองตอนซึ่งแต่ละตอนจะจบสมบูรณ์ในตัวเอง ในบทความนี้ถือเป็นตอนแรกซึ่งจะนำเสนอประวัติความเป็นมาของชินโต ความสำคัญของลัทธินี้ที่เราสามารถพบเห็นร่องรอยหลักฐานได้ในทุกสิ่งทุกอย่างของความเป็นญี่ปุ่น แม้ในปัจจุบันสิ่งที่กล่าวมาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปนัก และในฉบับต่อไปจะนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาความคิดชินโตที่ส่งผ่านไปสู่งานศิลปะ รวมถึงลักษณะเด่นของงานศิลปะที่อยู่ภายใต้อิทธิพลแนวคิดแบบชินโตค่ะ

มีผู้กล่าวว่า ชินโต ไม่ได้เป็นเพียงปรัชญาความคิดหรือลัทธิศาสนาเท่านั้น หากชินโตเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรม ความเชื่อดั้งเดิม และเอกลักษณ์ของความเป็นชนชาติญี่ปุ่น เพราะอุปนิสัยและลักษณ์เด่นทางวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นล้วนถูกหล่อหลอมขัดเกลาด้วยคำสอนของชินโต จนทำให้คนญี่ปุ่นทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตามเติบโตขึ้นมาภายใต้หลักคำสอนและหลักปฏิบัติชินโตทั้งสิ้น และแม้ครั้งหนึ่งเคยมีความพยายามที่จะนำเอาปรัชญาความคิดนี้เผยแพร่สู่ประเทศอื่นๆอย่างเกาหลี จีน และทิเบต แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จทำให้ในปัจจุบันชินโตจึงเติบโตและรุ่งเรืองอยู่เฉพาะบนเกาะญี่ปุ่นเท่านั้น

ก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามาในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ญี่ปุ่นไม่มีคัมภีร์ทางศาสนา ไม่มีลัทธิปรัชญา แนวคิดด้านอภิปรัชญาที่จะอธิบายความเป็นจริงของโลกและจักรวาลก็มีอยู่ไม่มากนักและยังไม่เป็นระบบ ไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติในลักษณะที่แยกมนุษย์กับธรรมชาติออกจากกันหรืออธิบายธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องศึกษาพิจารณาในฐานะของ “โลกภายนอก”[2] ความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นเชื่อว่ามนุษย์คือส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากธรรมชาติองค์รวม (the whole) และมนุษย์ถูกอธิบายหรือให้นิยามความหมายว่าเกิดจากการรวมกันขึ้นของธาตุต่างๆหรือพลังในธรรมชาติ[3]

แรกเริ่มเดิมทีความคิดความเชื่อซึ่งเป็นศาสนาโบราณของญี่ปุ่น พบเงื่อนเค้าว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยอยู่ในรูปแบบของการกราบไหว้บูชาธรรมชาติเช่นเดียวกับศาสนาโบราณในดินแดนแถบอื่นทั่วโลก เป็นความเชื่อในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ (Fertility cults) มีการบูชาบรรพบุรุษสืบทอดเป็นสายตระกูล มีหัวหน้าตระกูลหรือชนเผ่าที่เรียกว่า อุจิ (Uji) ผู้ซึ่งเป็นผู้นำในการปกครองพร้อมๆกับที่เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณไปด้วย ในช่วงเวลานั้นกฎระเบียบในการปกครองไม่ได้แยกออกจากศาสนา ทำให้ความเชื่อต่างๆในสังคมได้หลอมรวมเข้าเป็นระบบเดียวกัน และยังมีการบูชาวีรบุรุษของชนเผ่าหรือของท้องถิ่นในฐานะเทพ (Hero worship) โดยภาพรวมแล้วจึงกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานั้นชาวญี่ปุ่นโบราณเคารพนับถือลัทธิวิญญาณนิยม เทพเจ้าหรือจิตวิญญาณในโลกธรรมชาติในลักษณะของเทพตำนาน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดศาสนาชินโต คือความพยายามสร้างเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างความเชื้อดั้งเดิมของญี่ปุ่นกับศาสนาพุทธที่เข้ามามีบทบาทในสังคมญี่ปุ่น ในสมัยโตกุกาวา กลุ่มนักปราชญ์โคคุกากุชู (nativists)[4] ซึ่งศึกษาเทพตำนานและตำนานแห่งการเกิด (nativism)[5] ได้รวบรวมความรู้และตำนานต่างๆเกี่ยวกับการกำเนิดโลกและประเทศญี่ปุ่น จนในปี ค.ศ. 712 คัมภีร์โคจิกิ (Kojiki) หรือบันทึกเรื่องราวโบราณก็ถูกรวบรวมขึ้นเป็นผลสำเร็จ และในปี ค.ศ. 720 คัมภีร์นิฮอนกิ (Nihonki, Nihon-Shoki) หรือบันทึกเหตุการณ์ของญี่ปุ่น[6] ก็ได้รับการรวบรวมขึ้นเป็นลำดับต่อมา คัมภีร์ทั้งสองเล่มกลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชินโต ในครั้งนั้นเองคำว่า ชินโต ก็ได้ถูกคิดขึ้นและใช้เรียกศาสนานี้ นับแต่นั้นมาศาสนาชินโตก็มีระบบระเบียบชัดเจนมากขึ้นและมีอิทธิพลอย่างสูงต่อประเทศญี่ปุ่นมาต่อเนื่องยาวนานอย่างไม่ขาดกระแสตั้งแต่สมัยราชวงศ์ยามาโตะ จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

ราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผลจากการปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration, 1868) ชินโตได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่น เกิดเป็นแนวคิดที่แบ่งเป็น “ชินโตแห่งรัฐ” และ “ชินโตแห่งนิกาย”[7] ชินโตแห่งรัฐนั้นหมายความว่าไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรแต่ถ้าถือสัญชาติญี่ปุ่นแล้ว บุคคลผู้นั้นจะต้องนับถือชินโตแห่งรัฐนี้ด้วย เป็นการสร้างชินโตในรูปขององค์กรที่เอื้อประโยชน์ด้านการเมืองการปกครอง สร้างจิตวิญญาณของความเป็นรัฐชาติที่ให้ความเคารพบูชาสถาบันกษัตริย์และพระจักรพรรดิญี่ปุ่น (mikado) ในฐานะผู้สืบเชื้อสายมาจากเทพีแห่งดวงอาทิตย์ มีสิทธิ์อำนาจอันชอบธรรมในการปกครองผืนแผ่นดินญี่ปุ่นตามเทพตำนานที่บันทึกไว้คัมภีร์โคจิกิและนิฮอนกิ หากมองในแง่มุมของศาสนา ชินโต มีลักษณะเด่นคือ

ศาสนาชินโต ไม่มีศาสดา ไม่มีผู้ก่อตั้งศาสนา
ศาสนาชินโต ไม่มีพระคัมภีร์ทางศาสนาที่สมบูรณ์[8]
ศาสนาชินโต ไม่มีบทบัญญัติในการประพฤติปฏิบัติที่ตายตัว[9]
ศาสนาชินโต เป็นองค์กรนักบวชที่ไม่เคร่งครัดในเรื่องวัตรปฏิบัตินัก
ศาสนาชินโต เป็นศาสนาธรรมชาติ หรือชาติพันธุ์ (natural or ethnic religion)

คำว่า “ชินโต” (Shinto, 神道) มีที่มาจากตัวอักษรภาษาจีนสองคำคือ ชิน (Shin) และ เต๋า (Tao, Dao) ชิน หมายถึง เทพเจ้า หรือพลังอำนาจแห่งจิตวิญญาณ[10] และ เต๋า หมายถึง หนทางหรือวิถี[11] เมื่อรวมกันแล้วแปลได้ว่า “ทางแห่งเทพเจ้า” (The way of gods) ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเองก็มีอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกคือคำว่า คามิ-โน-มิชิ ซึ่งแปลให้ตรงตัวก็คือ “ทางแห่งคามิ” ค่ะ

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของชินโตคือความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณในธรรมชาติ[12] ที่เรียกว่า คามิ (kami : 神) นั่นเอง ตามความหมายของคำ คำว่าคามิแปลว่า “สูงกว่า” (upper) และคำๆนี้ยังสามารถจำแนกความหมายได้ 3 แบบคือ บริสุทธิ์ หรือสว่างรุ่งเรือง สูงส่งกว่า และแปลกประหลาด ลึกลับ น่ากลัว ซ่อนเร้น เหนือธรรมชาติ[13] โมโตโอริ (Motoori, 1730-1801)[14] นักเทววิทยาชินโตคนสำคัญได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ คามิ ไว้ว่า

“ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แม้แต่นก สัตว์ พืช ต้นไม้ ทะเล ภูเขา และทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอะไร ที่สมควรแก่การเกรงขามและแสดงออกถึงพลังที่พิเศษและเด่น เหล่านี้เรียกว่า คามิ และไม่จำเป็นที่จะต้องเด่นในด้านความงาม ความดี หรือความสามารถเท่านั้น สิ่งที่ร้ายกาจ และสิ่งที่ประหลาดลึกลับซึ่งบุคคลทั่วไปเกรงกลัว ก็เรียกว่า คามิ พระจักรพรรดิ (Mikado) ที่สืบสันติวงศ์กันลงมา มนุษย์ที่สูงส่งซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากมายทั้งในสมัยโบราณและสมัยปัจจุบัน สุนัขจิ้งจอก เสือ หมาป่า ลูกท้อ เพชร พลอย ล้วนเรียกว่า คามิ”[15]

คามิที่สำคัญที่สุดของชินโตปรากฏอยู่ในคัมภีร์โคจิกิ บันทึกเรื่องราวเทพตำนานญี่ปุ่นซึ่งกล่าวถึง อิซานะกิ (Izanaki) และ อิซานะมิ (Izanami) เทพฝ่ายชายและเทพฝ่ายหญิงซึ่งเป็นปฐมกำเนิดของเหล่าทวยเทพและของสรรพสิ่งทั้งมวลบนพื้นพิภพ อะมะเตระสุ (Amaterasu) เทพีแห่งดวงอาทิตย์ที่เกิดจากดวงตาข้างซ้ายของอิซานะกิ เป็นเทพีที่ชาวญี่ปุ่นให้ความเคารพนับถือมากที่สุด ซึกุโยมิ (Tsukuyomi) เทพแห่งดวงจันทร์ เกิดจากดวงตาข้างขวาของอิซานะกิ และซูซาโนะวู (Susano-o) เทพฝ่ายอธรรมซึ่งเกิดขึ้นจากจมูกของอิซานะกิ

ดังนั้น “คามิ” ก็คือจิตวิญญาณซึ่งมีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ ตั้งแต่ทวยเทพ สิ่งในธรรมชาติและตัวมนุษย์เองก็เป็นคามิเช่นเดียวกัน แต่แม้ว่าจะมีกระบวนการแห่งชีวิตเหล่านี้แผ่ซ่านอยู่ทั่วไป เราก็มักจะไม่สามารถสื่อสารกับสิ่งเหล่านี้ได้ เช่นเดียวกับกระจกที่ถูกเคลือบด้วยฝุ่นผง สภาวะธรรมชาติของเรากลายเป็นสิ่งที่มืดหม่นคลุมเครือ[16] การจะเข้าถึงสภาวะหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับคามิ เราจะต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์เบิกบาน จิตใจของมนุษย์นั้นอาจขาดความบริสุทธิ์เบิกบานและพลังชีวิตได้เมื่อจิตใจของเราเต็มไปด้วยสิ่งที่แปดเปื้อน ความไม่จริงใจ ความเห็นแก่ตัว ความเศร้าโศก เมื่อนั้นเรามักจะทำสิ่งที่เลวร้ายและไม่เป็นระเบียบ เช่นเดียวกับแม่น้ำลำคลองที่ถูกทำให้สกปรกมีกลิ่นเหม็นหรือต้นไม้ใหญ่ที่ถูกหักกิ่งตัดงัดให้ตาย ชินโตจึงให้ความสำคัญอย่างสูงกับการ “ชำระตนให้บริสุทธิ์” ทั้งทางร่างกาย ชำระล้างสิ่งสกปรก และทางจิตใจ ชำระล้างทัศนคติ ให้เกิดอารมณ์และจิตใจที่บริสุทธิ์ เข้มแข็งและเฉียบแหลม เพื่อให้เกิดการประพฤติที่ถูกต้องดีงามและจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วย “ความบริสุทธิ์ใจ” (makoto) ต่อผู้อื่นและต่อโลกธรรมชาติ

มีสัญลักษณ์มากมายในศาสนาชินโตที่เกี่ยวข้องกับการชำระล้างให้บริสุทธิ์เช่น ประเพณีการอาบน้ำ การปัดเป่าด้วยฮาราอิกุชิ[17] ข้าวสาร เกลือ หรือถั่ว อีกสัญลักษณ์หนึ่งที่เรามักจะพบเห็นได้โดยทั่วไปคือประตูโทริอิ (Torii gate) ที่มักจะสร้างไว้ใกล้ๆกับศาลเจ้าชินโต แม่น้ำ ต้นไม้ใหญ่ ก้อนหินใหญ่ หรือบนยอดเขา อันเป็นเครื่องหมายแสดงว่าในพื้นที่นั้นมีคามิที่ต้องแสดงความคารวะสถิตอยู่

ปรัชญาชินโตจึงเป็นความเข้าใจชีวิตแบบองค์รวม เชื่อในความกลมกลืนสอดประสานกันของสรรพสิ่งและความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติรอบตัว ความเชื่อที่สำคัญที่สุดของชินโตคือ “ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ มีชีวิต” พลังอำนาจแห่งชีวิตมีอยู่ทั่วทุกที่ในโลกแห่งปรากฏการณ์[18] ความเชื่อในปรัชญาชินโตจึงทำให้หัวใจของชาวญี่ปุ่นเต็มไปด้วย “ความรัก” คือความรักในธรรมชาติ ประเทศชาติ พระจักรพรรดิ รักในความสะอาด รักในการสร้างสรรค์และความมีชีวิตชีวา ซึ่งส่งผลปรากฏในจารีตการดำเนินชีวิตและงานสร้างสรรค์ทุกประเภทของชาวญี่ปุ่นค่ะ


เอกสารอ้างอิง
โจเซฟ แกร์. 2522. “ชินโต : กามิ-โน-มิชิ.” ใน ศาสนาทั้งหลายนับถืออะไร (หน้า 96 – 107). ฟื้น
ดอกบัว ผู้แปล. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. 2545. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. กรุงเทพมหานคร :
สุขภาพใจ.
บอยด์, เจมส์ ดับเบิลยู และ นิชิมารุ, เท็ตสึยะ. 2550. คติความเชื่อลัทธิชินโตในการ์ตูนแอนิ
เมชั่นของมิยาซากิเรื่อง Spirited Away
. อันธิฌา ทัศคร ผู้แปล. (เอกสารคัดสำเนา)เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการ พฤหัสเสวนา พินิจภาษาและสังคม : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
Devi, Savitri. 2007. “Shinto - The Way of the Gods.” [online], 28 paragraphs. Available:
http://library.flawlesslogic.com/shinto.htm (2007, August 8)
Kannagara Jinja. 2007. “What is Shinto?” [online], 30 paragraphs. Available :
http://www.tomcoyner.com/shinto.html (2007, August 8)
Shunzo, Sakamaki. 1967. “Shinto : Japanese Ethnocentrism.” in The Japanese mind :
essentials of Japanese philosophy and culture (pp. 24-32). Charles A. Moore (ed).
Honolulu : East-West Center Press.

เว็บไซต์แนะนำ
สารานุกรมชินโต (Encyclopedia of Shinto)
http://eos.kokugakuin.ac.jp/modules/xwords/
นิยามคำศัพท์ชินโต (Basic term of Shinto)
http://www2.kokugakuin.ac.jp/ijcc/wp/bts/index.html
คัมภีร์โคจิกิ ในรูป E-Book สำนวนแปลของ Basil Hall Chamberlain
http://www.sacred-texts.com/shi/kj/index.htm
และเว็บบล็อกที่รวบรวมข้อมูลด้านปรัชญาและศิลปะโดยผู้เขียนเองค่ะ
http://art-philosphy.blogspot.com/

เชิงอรรถ

[1] โจเซฟ แกร์, 2522, หน้า 96.
[2] Shunzo, Sakamaki, 1967, p. 24.
[3] ความเชื่อในลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับลัทธิเต๋า ซึ่งถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันแบบเป็นองค์รวมและถือกำเนิดจากต้นกำเนิดอันเดียวกันคือ เต๋า
[4] The kokugakushu
[5] ตำนานแห่งการเกิดเรียกว่าโคคุกากุ (kokugaku) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษากำเนิดชนชาติญี่ปุ่น (National study หรือ Japanology)
[6] โคชิกิ แปลได้ว่า บันทึกเรื่องราวโบราณ (Record of Ancient Matters) เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 712 และนิฮอนกิหรือนิฮอนโชกิ แปลได้ว่า บันทึกเหตุการณ์ของญี่ปุ่น (Chronicles of Japan) เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 720
[7] ชินโตแห่งรัฐอยู่ในรูปของสถาบันทางการเมืองการปกครองเรียกว่า State หรือ Shrine Shinto ส่วนชินโตแห่งนิกายอยู่ในรูปของลัทธิทางศาสนาเรียกว่า Sectarian Shinto
[8] นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าคัมภีร์โคจิกิและนิฮอนกิ ไม่อาจจะยกให้เป็นคัมภีร์ทางศาสนาที่สมบูรณ์ได้ เพราะไม่ได้แสดงบทบัญญัติในการปฏิบัติของศาสนาที่ชัดเจน เป็นเพียงการบันทึกรวบรวมเรื่องราวเทพตำนานพื้นบ้านที่กระจัดกระจายทั่วไปตามท้องที่ต่างๆเข้าไว้ด้วยกันให้เป็นระบบ
[9] แม้จะไม่มีบทบัญญัติที่ตายตัว แต่ก็มีหลักปฏิบัติพื้นฐาน 4 ข้อของชินโต ต้องให้ความเคารพต่อประเพณีและครอบครัว รักในธรรมชาติ รักษาความสะอาดร่างกาย และให้ความเคารพต่อเทศกาลและพิธีการต่างๆ
[10] spiritual power, divinity
[11] the way, the path
[12] Nature Spirits หรือ Spiritual Essence
[13] ความหมายของคำว่าคามิที่จำแนกเป็น 3 แบบในภาษาอังกฤษคือ (1) Pure, Bright (2) Superior (3) Strange, Mysterious, Fearful, Hidden, Supernatural
[14] โมโตโอริ โนรินากะ เป็นนักเทววิทยา หรือ โคคุกากุชู คนสำคัญในสมัยเอโดะ
[15] โมโตโอริ อ้างในทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2545, หน้า 266)
[16] บอยด์, เจมส์ ดับเบิลยู และ นิชิมารุ, เท็ตสึยะ. 2550. หน้า 3.
[17] ฮาราอิกุชิ (Haraigushi) หรือ lightning wand เป็นไม้เท้าที่มีพวงกระดาษสีขาวที่พับเป็นรูปซิกแซ็กคล้ายสายฟ้าอยู่ตรงปลาย มักใช้ในพิธีกรรมชินโต และประดับตามศาลเจ้าต่างๆ
[18] บอยด์, เจมส์ ดับเบิลยู และ นิชิมารุ, เท็ตสึยะ. 2550. หน้า 3.

ความประทับใจในชีวิต - กว่าจะถึงวันนี้


ชีวิตในช่วงวัยมัธยมของฉันนนั้นได้สอนประสบการณ์หลายอย่างทั้งทางที่ดีและทางที่ไม่ดีแต่ส่วนมากจะเป็นทางที่ไม่ดีมากกว่า แต่ถึงอย่างไรประสบการณ์เหล่านั้นก็ทำให้ฉันนั้นมีทุกวันนี้ ในช่วงวัยที่อยู่ชั้นมัธยมนั้นฉันเริ่มที่จะเป็นเด็กที่เกเรมากคนหนึ่งในสายตาอาจารย์เกือบจะทุกคนเพราะด้วยความที่ฉันไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ และชอบหนีเรียน ตัวฉันนั้นเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนเรียนอยู่ชั้นประถม ฉันนั้นเป็นเด็กที่เรียนดีคนหนึ่ง แต่พอมาอยู่ในช่วงชั้นมัธยมปีที่ ๑ นั้นฉันนั้นคบเพื่อนเป็นจำนวนมาก แล้วเพื่อนของฉันแต่และคนนั้นเป็นเด็กที่ไม่เรียนหนังสือเกเรไปวันๆฉันนั้นชอบมีเรื่องทะเลาะวิวาทในโรงเรียนบ่อยมากทั้งกับรุ่นพี่และรุ่นเดียวกันต่อมาวันหนึ่งเพื่อนของฉันนั้นมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับเด็กโรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ฉันกับเพื่อนอีกหลายคนก็โดดเรียนกันไปทะเลาะวิวาทกับเด็กกลุ่มนั้น จนทำให้ถูกเชิญผู้ปกครอง และพักการเรียน เพราะวันที่ไปทะเลาะวิวาทกันนั้นรื่องเลยโดนตำรวจจับได้ เรื่องจึงมาถึงโรงเรียน จนในที่สุดจะจบภาคเรียนที่ ๒ นั้นผลการเรียนของฉันนั้นตกต่ำมากเหลือแค่ ๑.๒๓ จากเด็กที่เรียนได้เกรดดีมาตลอดจนทำให้ต้องย้ายโรงเรียนเพราะถ้ายังเรียนที่นั้นต่อแม่บอกว่าคงไม่จบ ม ๓ แน่ๆ ฉันเลยต้องย้ายโรงเรียนมาเรียนที่ จังหวัด ตรัง เมื่อมาอยู่ที่นี้ฉันต้องปรับตัวใหม่ทุกอย่าง เพื่อนใหม่ โรงเรียนก็ใหม่ แถมยังไม่รู้จักใครเลย ตอนนั้นฉันรู้สึกเหงามากๆ แต่ก็มีเรื่องขึ้นมาจนได้เนื่องจากฉันเป็นเด็กที่หน้าตาคมเข้มหรือที่พูดง่ายๆ ว่าหน้าดุน่ะ ก็เลยมีเรื่องกับรุ่นพี่ตบตีกันจนได้แผลไปเล็กน้อย และหลังจากวันนั้น ฉันก็เริ่มกับไปทำตัวเหมือนเดิม คบกับเพื่อนกลุ่มที่ไม่ค่อยเรียนหนังสือ หนีเรียนไปเที่ยว จนอาจารย์ที่นั้นรู้จักสรรพนามองฉันดี เพราะฉันนั้นเข้าออกห้องปกครองเป็นว่าเล่นเลย มีอยู่ครั้งหนึ่งฉันทะเลาะกับเพื่อนชายต่างห้องด้วยความโมโหฉันเลยใช้มีดแทงผู้ชายคนนั้น จนบาดเจ็บและเรื่องก็มาถึงหูของพ่อและแม่พ่อจึงดุและว่าฉันควรเป็นคนที่อารมณ์เย็นกว่านี้นะ แล้วพ่อก็เสียค่าเสียหายให้กับผู้ชายคนนั้น ตอนนั้นฉันเป็นเด็กที่อาจารย์ทุกคนจ้องที่จะจับผิด และพูดว่าอย่างไรฉันก็เรียนไม่จบมัธยม ปีที่ ๓ แน่ๆ แต่ฉันก็เรียนจนจบมัธยมปีที่ ๓ ฉันคิดว่าฉันอยากไปเรียนสายเทคนิคต่อเพราะเพื่อนขของฉันก็ไปเรียนที่นั้นเกือบทุกคน แต่ทางบ้านของฉัน นั้นไม่ยอมแน่ๆ เพราะถึงไปเรียนก็เรียนไม่จบอีก พ่อและแม่อยากที่จะให้ฉันเรียนสายสามัญต่อ ฉันเลยฝืนใจมาเรียนสายสามัญ สายศิลป์ทั่วไป ก็มาสอบสัมภาษณ์ที่โรงเรียนเดิมที่ฉันจบ มัธยมปีที่ ๓ นั้น แต่สอบสัมภาษณ์ถึง ๓ ครั้งก้ไม่ผ่าน อาจเป็นเพราะฉันนั้นสร้างความเดือดให้กับที่นี้มากเขาเลยไม่อยากรับฉันเรียนที่นี้ แม่ของฉันเลยพาฉันไปหาท่านผู้อำนวยการและของฝากให้ฉันเรียนที่นั้นด้วย ท่านผู้อำนวยการก็รับปากและให้เรียนชั้นมัธยมปลายที่นั้น แต่ท่านขอร้องให้ฉันทำตัวเป็นคนใหม่ ตั้งใจเรียน และเป็นตัวอย่างให้รุ่นน้องดูให้ได้ ฉันก็รับปากท่านว่าฉันจะตั้งใจเรียนให้ถึงที่สุด หลังจากนั้นฉันก็พยายามทำตัวเป็นคนใหม่คบกับเพื่อนๆ ที่ขยันเรียนหนังสือ และไม่เที่ยวเตร่แล้ว หลังจากนั้นผลการเรียนของฉันก็ดีขึ้นมากจนได้เลื่อนห้องไปอยู่ ห้องสายศิลป์ห้องแรกคือห้อง ๕/๒ ฉันก็ขยันเรียนมากขึ้น ขยันอ่านหนังสือ และทำกิจกรรมของโรงเรียนฉันได้เลือกเป็นคณะกรรมการนักเรียนทำงานให้โรงเรียน และช่วงนั้นโรงเรียนฉันได้โรงเรียนในฝัน ฉันเป็นคณะกรรมการต้อนรับท่าน ปิยะบุตร ชนวิชาญ ฉันดีใจมากที่ได้ทำงานเพื่อส่วนรวม และต่อมาฉันก็ได้เรียนชั้น มัธยมปีที่ ๖/๒ และช่วยกิจกรรมทางดรงเรียนมาเรื่อยๆ ฉันนั้นได้ยกให้เป็นตัวอย่างที่ดีของโรงเรียน ให้น้องนั้นควรทำตัวเป็นแบบอย่าง แล้วช่วงก่อนเอนท์นั้นฉันขยันอ่านหนังสือมากเป็นพิเศษ จนเอนท์ติดรอบแรกของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ฉันจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ นั้นด้วยเกรดเฉลี่ย ๒.๗๕ ถึงแม้จะเป็นเกรดเฉลี่ยที่ไม่มากมายนักแต่ฉันก็ภูมิใจที่สุด
ฉันต้องขอขอบคุณบุคคลสำคัญต่างๆ ที่ทำให้ฉันมาถึงทุกวันนี้จากเด็กที่เลยเกเรมากคนหนึ่ง ฉันขอบคุณพ่อและแม่ที่อยู่ข้างฉันและให้คำปรึกษากับฉันมาโดยตลอด และท่านผู้อำนวยการโรงเรียนที่ให้โอกาสฉันในวันนั้น ถ้าท่านไม่ให้โอกาสฉันวันนั้น ฉันคงมาไม่ถึงทุกวันนี้ อย่างน้อยฉันก็ลบคำที่สพประมาทฉันได้ว่าคงเรียนไม่จบ คนเราไม่มีใครหรอกที่ดีไปหมดทุกอย่าง เหมือนอย่างชีวิตฉันฉันสัญญาว่าจะเรียนใน มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์นี้จนจบปริญญาให้ได้ (ฉันสัญญาค่ะ)
ผู้เขียน s5020210041@mor-or.pn.psu.ac.th

กิจกรรมถามตอบเรื่องพุทธศาสนานิกายเซน

วิชาศาสนาในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ภาคการศึกษาที่ 1/50
ต้องการอ่านคำตอบของใครโปรดคลิกที่ชื่อของผู้ตั้งคำถามหรือผู้ตอบคำถามค่ะ

(1) "ซาโตริ" กับ "การตรัสรู้" เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ผู้ตั้งคำถาม : นายอัสรี สะนิ ผู้ตอบคำถาม : นางสาววิภา ชุมกูล

(2) การฝึกฝนของเซนจะบรรลุธรรมได้ ผู้ฝึกฝนต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และถ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วจะช่วยให้สามารถบรรลุธรรมได้อย่างไร
ผู้ตั้งคำถาม : นางสาวนุรฮายาตี ลาเตะ ผู้ตอบคำถาม : นางสาวซูวายบะห์ มูซอ

(3) การที่ศิษย์ได้ทำการมอนโด (ถาม-ตอบ) กับอาจารย์หรือกับศิษย์ด้วยกันเองนั้น เป็นการกระทำเพื่ออะไร
ผู้ตั้งคำถาม : นางสาวเพ็ญจิต หนูสี ผู้ตอบคำถาม : นางสาวแวกอรีเจาะห์ กามาลี

(4) คุณลักษณะแห่งเซนมีสี่ข้อ มีข้อไหนที่สำคัญที่สุด เพราะเหตุใดจึงสำคัญที่สุด
ผู้ตั้งคำถาม : นางสาววิภา ชุมกูล ผู้ตอบคำถาม : นายอัสรี สะนิ

(5) ด้วยเหตุใดมรรควิถีของเซนจึงไม่ได้อาศัยคัมภีร์หรืออิงกับคำสอนที่ตายตัว
ผู้ตั้งคำถาม : นางสาวอนัตตา โชติวนาวรรณ ผู้ตอบคำถาม : นายมะสะกรี ดือราแม

(6) แก่นแท้ของเซนคืออะไร
ผู้ตั้งคำถาม : นางสาวรอฮานี สมาแอ ผู้ตอบคำถาม : นายอะยือมัน ลือนิ

(7) ในคำกลอนที่กล่าวว่า " หมายความว่าอย่างไร
ผู้ตั้งคำถาม : นางสาวนูรียานี มะรอแมโน ผู้ตอบคำถาม : นางสาวพิลาสลักษณ์ เจ้าแก้ว

(8) โตกุซัน ตรัสรู้ได้อย่างไร
ผู้ตั้งคำถาม : นางสาวซูวายบะห์ มูซอ ผู้ตอบคำถาม : นางสาวนุรฮายาตี ลาเตะ

(9) ประสบการณ์แห่งเซนคืออะไร
ผู้ตั้งคำถาม : นางสาวแวกอรีเจาะห์ กามาลี ผู้ตอบคำถาม : นางสาวเพ็ญจิต หนูสี

(10) ทำไมชาวญี่ปุ่นจึงให้การยอมรับนับถือนิกายเซนเป็นอย่างสูง
ผู้ตั้งคำถาม : นางสาวพิลาสลักษณ์ เจ้าแก้ว ผู้ตอบคำถาม : นางสาวนูรียานี มะรอแมโน

(11) รหัสนัยมีความหมายว่าอย่างไร
ผู้ตั้งคำถาม : นายมะสะกรี ดือราแม ผู้ตอบคำถาม : นางสาวอนัตตา โชติวนาวรรณ

(12) จุดมุ่งหมายของเซนคืออะไร
ผู้ตั้งคำถาม : นายอะยือมัน ลือนิ ผู้ตอบคำถาม : นางสาวรอฮานี สมาแอ

(13) ทำไมศาสนาพุทธนิกายเซนจึงได้เรียกตัวเองว่า "รากฐานแห่งพระพุทธศาสนา" จงอธิบาย
ผู้ตั้งคำถาม : นราดูร เชษฐวรรณสิทธิ์

*หมายเหตุ คำตอบต่างๆเป็นการเสนอความคิดเห็นของผู้ตอบซึ่งอาจจะมีส่งที่ถูกหรือผิดได้

เด็กไม่มีศาสนา ฤๅจะเป็นทางออกยุค...หมดศรัทรา

ที่มา : แหล่งข่าวมติชน วันที่ 25 พฤษภาคม 2550
หากจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "ศาสนา" ในช่วงที่กระแสการผลักดันให้ "พระพุทธศาสนา" ต้องปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ยังคงเป็นประเด็น "ร้อนแรง" ไม่น้อยหน้าประเด็นข่าวอื่น ทั้งฝ่าย "หนุน", "ค้าน" หรือ "กลาง" คงเริ่มขมวดคิ้วกันบ้าง ขณะที่ฝ่าย "อนุรักษ์" ทั้งผลักทั้งดันปลุกกระแสให้ทุกคนหันเข้าหาศาสนา แต่อีกมุมหนึ่งของ "วัยรุ่น" กลับมีแง่มุมแง่คิดที่แตกต่าง (แต่ไม่แตกแยก) ที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวเยาวชนกลุ่มนี้ ขอเรียกตัวเองกันว่า "เด็กไม่มีศาสนา"
ตูน สาววัย 23 ปี พนักงานฝ่ายข้อมูลบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ยอมรับว่า ตัวเองไม่มีศาสนา "เวลากรอกเอกสารต่างๆ ตูนก็ยังใส่ว่าเราศาสนาพุทธอยู่นะ เพราะคิดว่า ถ้าใส่ว่าเราไม่มีศาสนา เดี๋ยวเรื่องยุ่งวุ่นวายมีคำถามมากมายเข้ามาอีก จริงๆ ตอนเด็กก็ยังนับถือศาสนาพุทธ เข้าวัดก็ทำบุญ ทำสังฆทาน กับแม่กับครอบครัว แต่พอเริ่มเข้าสู่ ม.ปลาย ตูนเริ่มรู้สึกว่าจะนับถือไปทำไม"ครั้นถามถึงสาเหตุ เธอตอบว่า ถ้าจะพูดว่าไม่ได้นับถือเลย ก็อาจจะไม่ถูกนัก เพียงแต่ว่า เธอไม่สามารถทุ่มเทให้กับศาสนาใดศาสนาหนึ่งได้ เพราะไม่รู้สึกเกิดความศรัทธาในศาสนาใดเป็นพิเศษ
"พูดแบบนี้อาจเหมือนกับว่าตูนบอยคอตหรือแอนตี้ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่คนแบบนั้น ตูนไม่เชื่อเรื่องบุญ บาป กรรม คือไม่เชื่อว่า เราไปทำบุญแล้วเราจะได้บุญ ตูนเลือกทำทานมากกว่า เพราะมันเห็นผลชัดเจน เห็นเป็นรูปธรรมว่าเขาได้เอาเงินไปใช้จริงๆ หรือถ้าสมมุติว่าตูนไปฆ่าคน ตูนก็ไม่ถือว่าการฆ่าคนมันบาป แต่ตูนต้องเข้าคุก ได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันมีหลักเหตุผลอยู่แล้ว" คนทั่วไปใช้ศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่สำหรับสาวตูนคนนี้ เธอบอกว่า เมื่อมีปัญหาเธอไม่ไหว้พระ ไม่สวดอ้อนวอนพระเจ้า แต่เธอเลือกที่จะปรึกษาจิตแพทย์ ปรึกษาเพื่อน หรือพี่ หรือคนที่คิดว่าจะให้คำตอบได้ และบางครั้งเธอก็ใช้วิธีการอ่านหนังสือ"มีเหมือนกันค่ะ ที่ตูนรู้สึกว่าเราดวงตก เจอแต่ปัญหา หรือเรื่องแย่ๆ แต่พอย้อนกลับไปมองปัญหา เช่น ล้มบ่อย ถูกรถเฉี่ยว นั่นก็เพราะว่าเราประมาทเอง ไม่มองทาง ไม่ระวังรถ หรือง่วง ไม่ใช่มีใครมาผลัก"ตูนยังบอกปิดท้ายให้คิดด้วยว่า จริงๆ แล้ว ทุกศาสนาดีแตกต่างกันไป เวลาที่เข้าวัดเธอรู้สึกได้ถึงความร่มเย็น ขณะที่เมื่อเธอก้าวเข้าไปในโบสถ์เธอก็สัมผัสได้ถึงความอบอุ่น "แล้วทำไมตูนต้องเลือกด้วยว่า จะรับความอบอุ่น หรือร่มเย็น"
อีกคน หนุ่มน้อยวัย 22 ปี "เบิร์ด" นักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง ที่เปิดอกคุยว่า "ผมไม่มีศาสนาครับ" เบิร์ดขยายความต่อถึงที่มาที่ไปและความคิดที่ทำให้เขาอยู่ในกลุ่มนี้ว่า ในโลกนี้มีศาสนาหลายศาสนา รวมถึงลัทธิต่างๆ ถ้าเรานับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง นั่นหมายความว่า ศาสนาที่เหลือไม่ดีหรืออย่างไร นั่นจึงทำให้เบิร์ดคิดว่า ศาสนาก็เป็นเพียงวัฒนธรรมหนึ่ง เป็นเพียงหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิต ที่ช่วยให้คนเราสามารถดำรงอยู่ภายใต้ความถูกต้องของสังคม

ทำไมจึงต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง อ่านพระบรมราโชวาทเรื่อง "การใช้ภาษาไทย"


พระบรมราโชวาท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เวลา 16.44 น.วันที่ 29 สิงหาคมพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย ที่ปฏิบัติราชการอยู่ในต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานพระบรมราโชวาท ในโอกาสที่กระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้มีการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย ประจำปี 2550 ณ กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2250

ในโอกาสนี้นายนิตย์ พิบูลสงคราม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย โอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัส เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีพระมหากรุณาธิคุณให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ กราบบังคมทูลฯ ถามเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องพลังงานทดแทน การใช้ภาษาไทย และเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทรงตอบทุกคำถาม

'ท่านทูตคงกลุ้มใจว่า คนที่ไปอยู่ต่างประเทศเพียงไม่กี่วันหรือไม่นาน กลับมาพูดภาษาไทยไม่ได้ เพราะว่านึกว่าไปต่างประเทศนั้น ต้องไปเรียนรู้ความเป็นไม่เป็นไทย ดังนั้นก็เห็นใจท่าน เพราะว่าท่านเป็นทูต คนที่ไปต่างประเทศไม่กี่วัน แล้วก็ไปพบกับท่านทูต พูดภาษาไทยไม่ได้ แต่ว่าต่างประเทศ ฝรั่งไปพบท่านมาเมืองไทยไม่นาน กลับไปพูดภาษาไทยได้ อันนี้ก็ชอบกล ประหลาดมาก แต่ว่าต้องเข้าใจว่าคนที่ไม่ได้ไปต่างประเทศ แต่ก็ได้มีโอกาสไปต่างประเทศ เขามีปมด้อย คนไทยนั้นส่วนใหญ่ไม่มีปมด้อย ที่เห็นคนไทยมีความภูมิใจที่เป็นคนไทย เพราะว่าอยู่เมืองไทย เป็นคนไทย เขาสามารถศึกษาว่าเมืองไทย คนไทยมีความดี แต่ผู้ที่ไปต่างประเทศนึกว่า เราก็พูดอย่างเดียวกับพวกที่ไปเมืองฝรั่ง ไม่ใช่พวกที่ไปเมืองแขกหรือว่าเมืองจีน เพราะว่าเห่อว่าฝรั่งเขาเจริญ เพราะบ้านเมืองของเขามีความก้าวหน้าหลายอย่าง คนไทยก็เลยมีปมด้อย ว่าเราไม่มีความเจริญ ปัญหาที่เกิดขึ้นว่าจะทำอย่างไร สำหรับแก้ไข ก็เล่าให้ท่านฟังแล้วว่า ข้าพเจ้ามาเมืองไทยไม่รู้ภาษาไทย แล้วก็ออกไป อายุ 5 ขวบ กลับมาอายุ 11 ก็ไม่ค่อยรู้ภาษาไทย ที่จริงรู้ภาษาไทยก็โดยที่ สมเด็จพระบรมราชชนนี ท่านไม่พูดภาษาฝรั่งกับเรา ท่านพูดภาษาไทย ก็เลยรู้ภาษาไทย แต่เขียนภาษาไทยไม่ค่อยได้ อ่านไม่ค่อยได้ ตอนอายุ 11 ก็ได้เรียน จนกระทั่งอายุ 18 ก็เขียนภาษาไทย อ่านภาษาไทยไม่ค่อยได้ มาอ่านภาษาไทยได้ทีหลัง แต่ก็อยู่ที่ความเป็นไทยนี่ลำบาก ก็พยายามที่จะเรียนภาษาไทย

แต่ผู้ที่ไปหาท่านทูตแล้วพูดภาษาไทยไม่ชัด ส่วนใหญ่เขาก็รู้ภาษาไทย ออกไป2-3วันลืมภาษาไทยแล้ว เพราะว่าเป็นคนที่ไม่ศึกษา วิธีที่จะทำท่านทูตก็คงต้องล้างสมองเขา ประเทศไทยมีภาษาไทยมานานแล้ว มีวัฒนธรรมไทยนานกว่าต่างประเทศในยุโรปหลายประเทศ ก่อนนี้ในต่างประเทศ เป็นยุคที่เขาเรียกว่ามิดเดิ้ลเอจ (middle age) เป็นยุคกลาง ยุคที่ไม่เจริญ เมืองไทยนี้ ยุคกลางของเราเจริญแล้ว ถ้าอยากจะให้แก้ไข เราก็ต้องศึกษายุคกลางของเราว่าเจริญแล้ว แล้วบอกกับพวกที่คิดว่าเมืองไทยไม่เจริญให้เข้าใจ แล้วก็ที่ประเทศไทยมีภาษาไทย มีตัวอักษรไทยมาตั้งแต่สมัยที่เป็นยุคกลางของฝรั่ง ของเราหลายร้อยปีมีภาษา มีตัวอักษร ของฝรั่งไม่มี เราไม่พูดถึงอเมริกา แอฟริกา แต่พูดถึงยุโรปซึ่งเป็นประเทศที่เจริญ แต่ตอนนั้นไม่ได้เจริญ เราเจริญก่อน แต่ว่าเมืองไทยจะไม่เจริญ เพราะมีคนอย่างพวกที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าเมืองไทยเจริญมานานแล้ว

วิธีที่จะทำก็คือต้องพยายามที่จะทำให้เข้าใจว่าเมืองไทยนี้เจริญมานานแล้ว วิธีที่จะปฏิบัติก็คือต้องสอนเขา ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาสันสกฤต เป็นอักษรที่ยาก ก็หมายความว่าเป็นอักษรโบราณเก่าแก่เป็นพันปี เขามีความเจริญมานานแล้ว ไม่ด้อยพัฒนา เด็กสมัยใหม่ต้องเรียนภาษาจะต้องเรียกว่าสมัยใหม่ ความจริงภาษาสันสกฤต สมัยใหม่มาก ตัวอักษรของเขามีชั้นล่าง กลาง บน เพราะว่าภาษาสันสกฤตนั้น คนก็เรียนรู้ยากมาก เพราะมีเป็นชั้นๆ ซึ่งถ้ามีใครมาถาม คนไทยทำไมไม่เจริญ ไม่พัฒนา ก็อย่างนี้ เพราะไม่ได้เรียนกัน คนไทยไม่พัฒนา ที่จริงพัฒนามาก ภาษาสันสกฤตมี 3-4 ชั้น แต่ไม่ทำเอง

ฉะนั้นถ้าท่านทูตอยากจะอธิบาย กับพวกที่มาหาว่าคน ไม่ก้าวหน้า ศึกษาภาษาไทยเอง ไม่ต้องถึงไปเรียนสันสกฤต ภาษาไทยเองก็มีหลายชั้น ก็หมายความว่าตัวอักษรเรามีสูงมาก การเรียนรู้ภาษาไทย เสียงของภาษาไทยก็มีหลายเสียง เพราะจะเขียนภาษาฝรั่งมาเป็นไทยก็ได้มาก ท่านไม่ต้องกลัว ศึกษาต่อไป แล้วอธิบายมากับพวกที่ล้าสมัย (primitic) ไม่ต้องกลัวมีปมด้อย'

โดยเฉพาะท่านที่เป็นข้าราชการกระทรวงต่างประเทศพึงทำหน้าที่อธิบายว่า คนไทยเป็นอย่างไร เพราะถ้าไม่มีใครอธิบายความเป็นอยู่ของประเทศไทยได้ ชาวต่างประเทศมักเข้าใจผิด และตั้งใจเข้าใจผิด เพราะไม่เข้าใจ ที่จริงเข้าใจ ชาวต่างประเทศไม่ได้โง่ แต่ทำโง่ เท่ากับว่า คนไทยทำโง่ไปตามเขา เมืองไทยก็แย่ เท่ากับว่า เมืองไทยทำโง่ตามความเป็นอยู่ต่างประเทศ เรียกว่าแย่ ชาวต่างประเทศย่อมทำให้คนไทยโง่จะได้เอาเปรียบได้ ดีใจที่ได้พบท่านในวันนี้และรู้ว่าท่านเข้าใจในหน้าที่ เคยพูดว่า วันนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศไม่ทำหน้าที่ตนเองจะลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศต้องเข้าใจและมีความรู้ในประเทศที่อยู่ และเข้าใจความรู้ในต่างประเทศ”

ปัดฝุ่น…พาคุณเปิดโลกแห่งปรัชญา แนะนำหนังสือ "โลกของโซฟี"


ในภาวะสังคมปัจจุบัน ที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มนุษย์ส่วนใหญ่ต่างตั้งเป้าหมายในการดำเนินชีวิตไว้เพียงแค่การได้ไปอยู่บนจุดที่สูงสุด เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากวงสังคม แต่จะมีใครเคยลองคิดไหมว่า นั่นคือหน้าที่ที่ถูกบัญชามาให้ปฏิบัติในฐานะมนุษย์จริงหรือ? และอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต?
เชื่อว่าคงมีมนุษย์ส่วนน้อยที่จะตั้งคำถามขึ้นกับตัวเอง เพราะหลายๆ คนอาจจะไม่เคยสนใจในคำตอบของอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ปฏิบัติตนตามกระแสหรือกรอบที่ตั้งเอาไว้ในยุคสมัยเพียงเท่านั้น “โลกของโซฟี” จึงเป็นหนังสือที่อยากหยิบขึ้นมาปัดฝุ่น เพื่อหวังให้ผู้อ่านพยายามหยุดก้าวไปข้างหน้าเพียงสักระยะ แล้วลองมานับถอยหลังกลับไปดื่มด่ำในประวัติศาสตร์ของจิตใจมนุษย์ เพื่อหาคำตอบแห่งชีวิต เผื่อคำตอบต่างๆ ที่ได้รับรู้ อาจจะเป็นสิ่งที่วิเศษสุดในการก้าวสู่อนาคตของคุณก็เป็นได้
“เส้นทางจินตนาการสู่ประวัติศาสตร์ปรัชญา” ข้อความโปรยในหน้าแรกของวรรณกรรมเยาวชนที่ชื่อ “โลกของโซฟี” บ่งบอกถึงแนวทางของหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างชัดเจน จากความยาวกว่า 500 หน้านี้ จะช่วยย้อนประวัติศาสตร์แห่งปรัชญาเมื่อ 2,500 ปีก่อน เพื่อแสวงหาคำตอบของการใช้ชีวิต
จากเรื่องราวของเด็กสาวที่ชื่อ “โซฟี อามุนด์เซ่น” ที่วันหนึ่งเธอได้รับจดหมายลึกลับจากบุคคลปริศนา ภายในจดหมายแต่ละฉบับนั้น เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับวิชาปรัชญาตะวันตกครบถ้วน ตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์จนถึงยุคสมัยปัจจุบัน แม้ว่าเธอจะไม่รู้ว่าใครเป็นคนส่งจดหมายให้ก็ตาม แต่ถึงอย่างไรไงเธอก็ยังอ่านจดหมายทั้งหมดอย่างตั้งใจ และเกิดการเรียนรู้ในจดหมายที่ได้รับ เมื่อความรู้ในวิชาปรัชญาของเธอมีมากในระดับหนึ่ง ชายสูงวัยที่ชื่อ“อัลแบร์โต้” ก็ปรากฏตัวขึ้นพร้อมแนะนำตัวว่า เขาคืออาจารย์ลึกลับวิชาปรัชญาของเธอ เมื่อได้รับรู้ว่าใครเป็นคนส่งจดหมายให้ เธอก็ดีใจและใคร่รู้ถึงจุดประสงค์ในการกระทำครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม “อัลแบร์โต้” ยังคงปล่อยให้ความอยากรู้ของ “โซฟี” เป็นปริศนาต่อไป และยังคงพาเธอเดินทางสู่ประวัติศาสตร์ปรัชญาตะวันตก จนเมื่อได้เจอกับความจริงอันน่าพิศวง เมื่อ “อัลแบร์โต้” ทำให้ได้รับรู้ว่าตัวเขาและเธอเป็นเพียงตัวละครที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของ “พันตรีอัลเบิร์ต น้าค” ผู้สังเกตการณ์สังกัดองค์การสหประชาชาติในเลบานอน ผู้ที่กำลังเขียนหนังสือสอนวิชาปรัชญาเพื่อมอบเป็นของขวัญวันเกิดครบรอบ 15 ปีของลูกสาวที่ชื่อ “ฮิลเด้” ทั้งสองคนจึงพยายามหาวิธีอันแยบยลที่จะทำบางสิ่งบางอย่างที่น่าอัศจรรย์ขึ้นและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นอาจจะเป็นความจริงของโลกใบนี้ก็เป็นได้
ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้คือ การสอนวิชาปรัชญาล้วนๆ แต่วิธีการนำเสนอของ โยสไตน์ กอร์เดอร์ นักคิดนักเขียนและนักปรัชญาชาวนอร์เวย์นี่เอง ที่สร้างความสนุกสนานน่าติดตามอย่างเพลิดเพลินและล้ำลึกให้กับแบบเรียนวิชาปรัชญาเล่มนี้ (ปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่นักเรียนปรัชญาทุกคนสมควรจะต้องอ่าน) หลายๆ คนอาจจะยังสงสัยว่า แล้วไหนล่ะคำตอบของคำถามในย่อหน้าแรก นั่นไง... คุณเริ่มกลายเป็นนักปรัชญาขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะคุณเริ่มมีคำถามที่เกิดขึ้นจากความสงสัยในชีวิตของคุณ
“อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต? ถ้าถามคนที่กำลังอดอยาก คำตอบคือ “อาหาร” ถ้าถามคนที่กำลังจะตายเพราะความหนาวเย็น คำตอบคือ “ความอบอุ่น” ถ้าถามคำถามเดียวกันนี้กับคนที่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว คำตอบก็อาจจะเป็นการมีใครสักคนเป็นเพื่อน”
“แต่ถ้าความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ได้รับการตอบสนองจนครบถ้วนแล้ว ยังจะมีอะไรอีกไหมที่ทุกคนต้องการ? นักปรัชญาคิดว่ามี พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยข้าวเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าทุกคนต้องการอาหาร ทุกคนต้องการความรักและการเอาใจใส่ดูแล แต่ยังมีนอกเหนือจากนั้นอีกที่ทุกคนต้องการ นั่นคือการหาคำตอบว่า เราคือใคร และทำไมเราจึงมาอยู่ที่นี่” บางส่วนจากตอนที่ 2 หมวกของนักมายากล
นี่คือคำตอบของปัญหาที่เกริ่นไว้ในย่อหน้าแรก แต่คำตอบนี้ก็ยังแตกเป็น 2 คำถามว่า เราคือใคร? ทำไมเราจึงมาอยู่ที่นี่? มีคนบางกลุ่มพยายามค้นหาคำตอบของคำถามนี้มาตั้งแต่ก่อนคริสตศักราชหรือก่อนที่จะกำเนิดศาสนาต่างๆ แต่เมื่อได้รับคำตอบแล้วก็เกิดคำถามใหม่ๆ แตกหน่อขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ และคนบางกลุ่มนี้ก็ยังคงค้นหาในคำตอบที่หลากหลายอยู่ในทุกยุคทุกสมัย คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่านักปรัชญา
นักปรัชญาในสมัยก่อนมีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความเป็นนักปรัชญาอยู่ในตัวตั้งแต่วัยเด็ก แต่ในสมัยนี้เมื่อวุฒิภาวะและสภาวะสังคมกลายเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิต ความเป็นนักปรัชญาจึงถูกเก็บไว้ในลิ้นชักที่ปิดตายภายในตัวเอง จึงต้องมีบางสิ่งบางอย่างมาไขกุญแจตู้นั้นเพื่อเปิดผนึกมันออกมา โลกของโซฟีอาจเป็นกุญแจดอกนั้น ถ้ามีคนถามว่า ทำไมจึงต้องมีความเป็นนักปรัชญาอยู่ในตัวด้วย บางส่วนในหนังสือ “สอนลูกให้คิดเป็น” ของ เสรี พงศ์พิศ ที่เขียนถึงลูกชายและลูกสาวของเขาน่าจะเป็นคำตอบที่ดี
“พ่อเชื่อว่า การเป็นคนตั้งคำถามและหาคำตอบไม่ใช่เรื่องของคนมีเวลาว่าง ช่างคิดช่างพิจารณา แต่เป็นเรื่องของคนที่แสวงหาความหมาย และทิศทางการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่ามากไปกว่าเพียงแค่ “หาเช้ากินค่ำ” ทำอะไรไปวันๆ จนดูเหมือน “เลื่อนลอย” ไม่มีหลักไม่มีทิศทาง แล้วแต่สังคมจะกำหนดหรือพาไป”
“พ่ออยากบอกลูกเหมือนกับอาจารย์ปรัชญาในหนังสือ “โลกของโซฟี” ที่บอกว่า “ฉันจะไม่ยอมให้เธอเป็นส่วนหนึ่งของพวกเฉื่อยเนือย ไร้ความรู้สึก ฉันอยากให้เธอเป็นคนช่างคิดช่างสงสัย” (หน้า 20-21) พ่อไม่อยากให้ลูกเติบโตแบบ “พวกผู้ใหญ่ที่เพิกเฉยกับโลก พวกเขาปล่อยให้ตัวเองถูกล่อเข้าไปติดอยู่กับภาระหน้าที่ประจำวันที่น่าเบื่อหน่ายไปตลอดชีวิต” (หน้า 22)
“อย่างที่ผู้เขียน “โลกของโซฟี” ยกคำกล่าวของเกอเต้ กวีเอกชาวเยอรมันโดยย้ำให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้พัฒนาการความคิดทางปรัชญาว่า “คนที่ไม่สามารถใช้ประสบการณ์สามพันปีของมนุษย์ชาติได้ ก็ต้องมีชีวิตอยู่แบบหาเช้ากินค่ำไปวันๆ” จาก สอนลูกให้คิดเป็น บทที่ 5 โลกของโซฟี หน้า 59-60
หนังสือ “โลกของโซฟี” ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล ตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันนี้ตีพิมพ์ไปแล้วทั้งหมด 7 ครั้ง ขณะนี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าหนังสือเล่มนี้จะยังมีวางอยู่บนแผงหนังสือบ้างหรือเปล่า แต่แว่วๆ มาว่าจะมีการจัดพิมพ์ครั้ง 8 เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ขณะนี้ หากสนใจหนังสือเล่มนี้แนะนำให้ลองไปดูตามห้องสมุดที่ได้มาตรฐาน รับรองว่ามีแน่นอน และสำหรับนักอ่านที่เคยเข้าไปท่องในโลกของโซฟีมาแล้ว ก็ลองกลับไปเพลิดเพลินสนุกสนานในโลกใบนั้นอีกสักรอบ ท่านอาจทวีความเข้าใจถึงตัวเองยิ่งขึ้นไป ดัง “ฮิลเด้” ซึ่งทำความเข้าใจในโลกของโซฟีถึง 3 รอบ ส่วนนักอ่านที่ยังมิเคยย่างกรายเข้าไปในโลกของโซฟีเลยสักครั้ง ก็ลองถอยหลังลองเข้าสู่โลกของโซฟีดู มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการรู้จักตัวเอง เพื่อค้นหาทางเดินชีวิตเส้นที่สวยงามที่สุด อย่างที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลยก็ได้
ที่มาของบทความ : http://manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9480000082605