ในภาวะสังคมปัจจุบัน ที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มนุษย์ส่วนใหญ่ต่างตั้งเป้าหมายในการดำเนินชีวิตไว้เพียงแค่การได้ไปอยู่บนจุดที่สูงสุด เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากวงสังคม แต่จะมีใครเคยลองคิดไหมว่า นั่นคือหน้าที่ที่ถูกบัญชามาให้ปฏิบัติในฐานะมนุษย์จริงหรือ? และอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต?
เชื่อว่าคงมีมนุษย์ส่วนน้อยที่จะตั้งคำถามขึ้นกับตัวเอง เพราะหลายๆ คนอาจจะไม่เคยสนใจในคำตอบของอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ปฏิบัติตนตามกระแสหรือกรอบที่ตั้งเอาไว้ในยุคสมัยเพียงเท่านั้น “โลกของโซฟี” จึงเป็นหนังสือที่อยากหยิบขึ้นมาปัดฝุ่น เพื่อหวังให้ผู้อ่านพยายามหยุดก้าวไปข้างหน้าเพียงสักระยะ แล้วลองมานับถอยหลังกลับไปดื่มด่ำในประวัติศาสตร์ของจิตใจมนุษย์ เพื่อหาคำตอบแห่งชีวิต เผื่อคำตอบต่างๆ ที่ได้รับรู้ อาจจะเป็นสิ่งที่วิเศษสุดในการก้าวสู่อนาคตของคุณก็เป็นได้
“เส้นทางจินตนาการสู่ประวัติศาสตร์ปรัชญา” ข้อความโปรยในหน้าแรกของวรรณกรรมเยาวชนที่ชื่อ “โลกของโซฟี” บ่งบอกถึงแนวทางของหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างชัดเจน จากความยาวกว่า 500 หน้านี้ จะช่วยย้อนประวัติศาสตร์แห่งปรัชญาเมื่อ 2,500 ปีก่อน เพื่อแสวงหาคำตอบของการใช้ชีวิต
จากเรื่องราวของเด็กสาวที่ชื่อ “โซฟี อามุนด์เซ่น” ที่วันหนึ่งเธอได้รับจดหมายลึกลับจากบุคคลปริศนา ภายในจดหมายแต่ละฉบับนั้น เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับวิชาปรัชญาตะวันตกครบถ้วน ตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์จนถึงยุคสมัยปัจจุบัน แม้ว่าเธอจะไม่รู้ว่าใครเป็นคนส่งจดหมายให้ก็ตาม แต่ถึงอย่างไรไงเธอก็ยังอ่านจดหมายทั้งหมดอย่างตั้งใจ และเกิดการเรียนรู้ในจดหมายที่ได้รับ เมื่อความรู้ในวิชาปรัชญาของเธอมีมากในระดับหนึ่ง ชายสูงวัยที่ชื่อ“อัลแบร์โต้” ก็ปรากฏตัวขึ้นพร้อมแนะนำตัวว่า เขาคืออาจารย์ลึกลับวิชาปรัชญาของเธอ เมื่อได้รับรู้ว่าใครเป็นคนส่งจดหมายให้ เธอก็ดีใจและใคร่รู้ถึงจุดประสงค์ในการกระทำครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม “อัลแบร์โต้” ยังคงปล่อยให้ความอยากรู้ของ “โซฟี” เป็นปริศนาต่อไป และยังคงพาเธอเดินทางสู่ประวัติศาสตร์ปรัชญาตะวันตก จนเมื่อได้เจอกับความจริงอันน่าพิศวง เมื่อ “อัลแบร์โต้” ทำให้ได้รับรู้ว่าตัวเขาและเธอเป็นเพียงตัวละครที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของ “พันตรีอัลเบิร์ต น้าค” ผู้สังเกตการณ์สังกัดองค์การสหประชาชาติในเลบานอน ผู้ที่กำลังเขียนหนังสือสอนวิชาปรัชญาเพื่อมอบเป็นของขวัญวันเกิดครบรอบ 15 ปีของลูกสาวที่ชื่อ “ฮิลเด้” ทั้งสองคนจึงพยายามหาวิธีอันแยบยลที่จะทำบางสิ่งบางอย่างที่น่าอัศจรรย์ขึ้นและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นอาจจะเป็นความจริงของโลกใบนี้ก็เป็นได้
ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้คือ การสอนวิชาปรัชญาล้วนๆ แต่วิธีการนำเสนอของ โยสไตน์ กอร์เดอร์ นักคิดนักเขียนและนักปรัชญาชาวนอร์เวย์นี่เอง ที่สร้างความสนุกสนานน่าติดตามอย่างเพลิดเพลินและล้ำลึกให้กับแบบเรียนวิชาปรัชญาเล่มนี้ (ปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่นักเรียนปรัชญาทุกคนสมควรจะต้องอ่าน) หลายๆ คนอาจจะยังสงสัยว่า แล้วไหนล่ะคำตอบของคำถามในย่อหน้าแรก นั่นไง... คุณเริ่มกลายเป็นนักปรัชญาขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะคุณเริ่มมีคำถามที่เกิดขึ้นจากความสงสัยในชีวิตของคุณ
“อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต? ถ้าถามคนที่กำลังอดอยาก คำตอบคือ “อาหาร” ถ้าถามคนที่กำลังจะตายเพราะความหนาวเย็น คำตอบคือ “ความอบอุ่น” ถ้าถามคำถามเดียวกันนี้กับคนที่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว คำตอบก็อาจจะเป็นการมีใครสักคนเป็นเพื่อน”
“แต่ถ้าความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ได้รับการตอบสนองจนครบถ้วนแล้ว ยังจะมีอะไรอีกไหมที่ทุกคนต้องการ? นักปรัชญาคิดว่ามี พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยข้าวเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าทุกคนต้องการอาหาร ทุกคนต้องการความรักและการเอาใจใส่ดูแล แต่ยังมีนอกเหนือจากนั้นอีกที่ทุกคนต้องการ นั่นคือการหาคำตอบว่า เราคือใคร และทำไมเราจึงมาอยู่ที่นี่” บางส่วนจากตอนที่ 2 หมวกของนักมายากล
นี่คือคำตอบของปัญหาที่เกริ่นไว้ในย่อหน้าแรก แต่คำตอบนี้ก็ยังแตกเป็น 2 คำถามว่า เราคือใคร? ทำไมเราจึงมาอยู่ที่นี่? มีคนบางกลุ่มพยายามค้นหาคำตอบของคำถามนี้มาตั้งแต่ก่อนคริสตศักราชหรือก่อนที่จะกำเนิดศาสนาต่างๆ แต่เมื่อได้รับคำตอบแล้วก็เกิดคำถามใหม่ๆ แตกหน่อขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ และคนบางกลุ่มนี้ก็ยังคงค้นหาในคำตอบที่หลากหลายอยู่ในทุกยุคทุกสมัย คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่านักปรัชญา
นักปรัชญาในสมัยก่อนมีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความเป็นนักปรัชญาอยู่ในตัวตั้งแต่วัยเด็ก แต่ในสมัยนี้เมื่อวุฒิภาวะและสภาวะสังคมกลายเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิต ความเป็นนักปรัชญาจึงถูกเก็บไว้ในลิ้นชักที่ปิดตายภายในตัวเอง จึงต้องมีบางสิ่งบางอย่างมาไขกุญแจตู้นั้นเพื่อเปิดผนึกมันออกมา โลกของโซฟีอาจเป็นกุญแจดอกนั้น ถ้ามีคนถามว่า ทำไมจึงต้องมีความเป็นนักปรัชญาอยู่ในตัวด้วย บางส่วนในหนังสือ “สอนลูกให้คิดเป็น” ของ เสรี พงศ์พิศ ที่เขียนถึงลูกชายและลูกสาวของเขาน่าจะเป็นคำตอบที่ดี
“พ่อเชื่อว่า การเป็นคนตั้งคำถามและหาคำตอบไม่ใช่เรื่องของคนมีเวลาว่าง ช่างคิดช่างพิจารณา แต่เป็นเรื่องของคนที่แสวงหาความหมาย และทิศทางการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่ามากไปกว่าเพียงแค่ “หาเช้ากินค่ำ” ทำอะไรไปวันๆ จนดูเหมือน “เลื่อนลอย” ไม่มีหลักไม่มีทิศทาง แล้วแต่สังคมจะกำหนดหรือพาไป”
“พ่ออยากบอกลูกเหมือนกับอาจารย์ปรัชญาในหนังสือ “โลกของโซฟี” ที่บอกว่า “ฉันจะไม่ยอมให้เธอเป็นส่วนหนึ่งของพวกเฉื่อยเนือย ไร้ความรู้สึก ฉันอยากให้เธอเป็นคนช่างคิดช่างสงสัย” (หน้า 20-21) พ่อไม่อยากให้ลูกเติบโตแบบ “พวกผู้ใหญ่ที่เพิกเฉยกับโลก พวกเขาปล่อยให้ตัวเองถูกล่อเข้าไปติดอยู่กับภาระหน้าที่ประจำวันที่น่าเบื่อหน่ายไปตลอดชีวิต” (หน้า 22)
“อย่างที่ผู้เขียน “โลกของโซฟี” ยกคำกล่าวของเกอเต้ กวีเอกชาวเยอรมันโดยย้ำให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้พัฒนาการความคิดทางปรัชญาว่า “คนที่ไม่สามารถใช้ประสบการณ์สามพันปีของมนุษย์ชาติได้ ก็ต้องมีชีวิตอยู่แบบหาเช้ากินค่ำไปวันๆ” จาก สอนลูกให้คิดเป็น บทที่ 5 โลกของโซฟี หน้า 59-60
หนังสือ “โลกของโซฟี” ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล ตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันนี้ตีพิมพ์ไปแล้วทั้งหมด 7 ครั้ง ขณะนี้ ก็ยังไม่แน่ใจว่าหนังสือเล่มนี้จะยังมีวางอยู่บนแผงหนังสือบ้างหรือเปล่า แต่แว่วๆ มาว่าจะมีการจัดพิมพ์ครั้ง 8 เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ขณะนี้ หากสนใจหนังสือเล่มนี้แนะนำให้ลองไปดูตามห้องสมุดที่ได้มาตรฐาน รับรองว่ามีแน่นอน และสำหรับนักอ่านที่เคยเข้าไปท่องในโลกของโซฟีมาแล้ว ก็ลองกลับไปเพลิดเพลินสนุกสนานในโลกใบนั้นอีกสักรอบ ท่านอาจทวีความเข้าใจถึงตัวเองยิ่งขึ้นไป ดัง “ฮิลเด้” ซึ่งทำความเข้าใจในโลกของโซฟีถึง 3 รอบ ส่วนนักอ่านที่ยังมิเคยย่างกรายเข้าไปในโลกของโซฟีเลยสักครั้ง ก็ลองถอยหลังลองเข้าสู่โลกของโซฟีดู มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการรู้จักตัวเอง เพื่อค้นหาทางเดินชีวิตเส้นที่สวยงามที่สุด อย่างที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลยก็ได้
ที่มาของบทความ : http://manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9480000082605
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น